ธุรกิจครีมซอง น่าสนใจอยู่หรือไม่ ?

ธุรกิจครีมซอง น่าสนใจอยู่หรือไม่ ?

“อุตสาหกรรมความงาม” เป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด มูลค่าตลาดจากข้อมูลของยูโรมอนิเตอร์ปี 2018 พบว่า มูลค่าตลาดความงามไทยมีมูลค่า 1.92 แสนล้านบาท เติบโต 7.3%   เพราะก้อนเค้กขนาดมหึมานี่เอง ทำให้มีแบรนด์ๆใหม่ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ เข้ามาสร้างสีสันให้กับธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง เมื่อโฟกัสมาที่ตลาดสกินแคร์เองก็มีมูลค่าสูงถึง 8.65 หมื่นล้านบาท เติบโต 7.9%

         หากลองออกไปสำรวจร้านสะดวกซื้อใหญ่ๆอย่างเซเว่น-อีเลฟเว่น หรือแม้แต่ร้านค้าปลีกเล็กๆจะพบว่า ในชั้นวางของกลุ่มผลิตภัณฑ์สวยๆงามๆ มีสกินแคร์แบบซองและเครื่องสำอางแบบซองวางเรียงรายไม่ต่ำกว่า  50 ผลิตภัณฑ์  หากสังเกตดีๆ จะพบว่าทั้งแบรนด์เล็ก แบรนด์ใหญ่ หรือจะเป็นแบบจ้างผลิต (OEM)  ต่างหันมาทำผลิตภัณฑ์ไซส์เล็กที่พกพาง่าย หรือ “ครีมซอง” ในราคาหลักสิบกันนับไม่ถ้วน และจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อะไรทำให้มูลค่าตลาดครีมซองโตแบบก้าวกระโดด ?

         ในแง่ของผู้บริโภค  มี 2 ปัจจัยหลักๆที่ครีมซองตอบโจทย์ความต้องการและพฤติกรรมได้เป็นอย่างดี 

  1. ราคา (Price Point) ที่ง่ายต่อการจ่ายเพื่อทดลองใช้ โดยแต่ละแบรนด์จะวางราคาขายไว้ตั้งแต่ 19 – 59 บาท ในปริมาณ 7.5 กรัม – 10 กรัม ซึ่งเป็นราคาและขนาดที่ควักจ่ายง่าย  ช่วยเพิ่มการทดลองสินค้าได้เป็นอย่างดี   ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ดีนักตามภาวะเศรษฐกิจ  การซื้อสินค้าไซส์ซองขนาดเล็กที่มีราคาไม่สูงนักจึงเป็นทางออกอย่างหนึ่ง
  2. เพิ่มความสะดวกสบาย (Convenience) ให้กับลูกค้า ในกรณีที่ต้องเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางด้วยเครื่องบิน ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลเรื่องปริมาณในการถือขึ้นเครื่อง

         ในแง่ของแบรนด์ใหญ่ๆเองก็ใช้กลยุทธ์ราคาและไซส์ซิ่งขนาดเล็กแบบซองมานี้ใช้เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น สู่ตลาดแมสมากขึ้น ผ่านร้านสะดวกซื้อทั้งหลาย ในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน กลยุทธ์ราคาและไซส์ซิ่งนี้เป็นอาวุธสำคัญในการสร้างยอดขายได้เป็นอย่างดี

คู่แข่งเยอะแบบนี้ แล้วยังน่าสนใจไหม ?

        ปัจจุบันผู้บริโภคมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ (Brand loyalty) น้อยลง โดยเฉพาะในช่วงอายุ 20 – 35 ปี  แบรนด์เจ้าตลาดจึงค่อยๆลดบทบาทลง ผู้บริโภคหันไปอยากลองและเปิดใจกับแบรนด์ใหม่ๆ ที่พบในรีวิวออนไลน์มากขึ้น  และสามารถซื้อไปทดลองใช้โดยไม่ต้องกังวลกับเงินที่เสียไปเพียงเล็กน้อย  ข้อนี้จึงน่าจะไม่เป็นอุปสรรคกับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่อยากลงไปในตลาด 

         อย่างไรก็ตาม  ผู้ประการหน้าใหม่ควรมีการทำการบ้านที่ดีด้วยเช่นกัน เริ่มจากศึกษาตลาดพร้อมค้นหาช่องว่างให้พบ  ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค  แล้วไปโฟกัสที่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะจุดมากกว่าการแก้ปัญหาผิวโดยรวม มีเทคโนโลยีหรือส่วนผสมที่น่าสนใจ  แล้วจึงทำการตลาดด้วยข้อความดึงดูดใจสื่อสารกับเป้าหมายได้ชัดเจน ตรงจุด สอดคล้องกับงบประมาณที่มี  

         สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงหลักการเบื้องต้นเท่านั้น  ยังมีรายละเอียดอื่นๆอีกมากมาย แต่หากมีความตั้งใจจริง เชื่อว่า  ประโยคที่ว่า “ มาทีหลัง..ก็ดังกว่า”  ก็อยู่ไม่เกินเอื้อม

สามารถชมบทความ ธุรกิจครีมซอง น่าสนใจอยู่หรือไม่ ? และอื่นๆได้ที่นี่

ข้อมูลอ้างอิง

https://marketeeronline.co/archives/111698

http://www.brandage.com/article/16544/Skincare

author-avatar
  
สินีนาฏ เพิ่มสวัสดิ์

มาร์เก็ตติ้งในธุรกิจความงามของบริษัทต่างประเทศชั้นนำกว่า 10 ปี เชี่ยวชาญการทำการตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและเส้นผมโดยเฉพาะ