แชร์ประสบการณ์การเป็นสตาร์ทอัพสาย Deep Tech

แชร์ประสบการณ์การเป็นสตาร์ทอัพสาย Deep Tech

เบื้องหลัง 4 นาที บนเวที Life Science Start up ในไทยสู่การคว้า Gold Prize รางวัลนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่ Silicon Valley

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในงานทำงานสตาร์ทอัพในสาย Deep Biotech ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ค่อยได้ยินสตาร์ทอัพในด้านนี้กันเท่าไหร่ เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พร้อมๆกับการต้องบริหารธุรกิจ SMEs ของตัวเอง ควบคู่ไปกับการเรียนป.โทที่ CMMU เป็นช่วงชีวิตที่ยุ่งเหยิงมาก บางวันได้นอนแค่ 3-4 ชม. แต่สุดท้ายผ่านมันมาได้ และได้บทเรียนและข้อคิดกับชีวิตเยอะมาก เริ่มกันเลยละกันครับ

รางวัลนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ Gold Prize จาก Silicon Valley

ผมว่าหลายสตาร์ทอัพใฝ่ฝันที่จะได้ไปเหยียบ Silicon Valley สถานที่ที่เป็นจุดรวมตัวของสตาร์ทอัพระดับโลกหลายต่อหลายบริษัท สำหรับผม ผมว่าการได้ไปที่นั่นคงเป็นฝันจางๆที่ยากจะไปถึง แต่อยู่ดีดีโอกาสก็ร่วงทับตัวผมแบบกระทันหันไม่ทันตั้งตัวเลยจริงๆ สสว.(สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) เป็นหน่วยงานรัฐบาลที่ดูแลธุรกิจเอสเอ็มอีบ้านเรา ซึ่งปีก่อน หนึ่งในบริษัทที่ผมดูแลอยู่ เข้าประกวดสถานประกอบการ และกลายเป็นสุดยอดเอสเอ็มอี ในงานSME National Award ครั้งที่ 9 สสว.รู้จักเราจากเวทีนั้น ด้วยการประสานจากทางวว.(สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) เพื่อคัดเลือกผลงานจากผู้ประกอบการไทยเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมงานแสดงผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์(Silicon Valley International Invention Festival 2018) เราดึงโปรเจคที่เป็น Business Unit นึงที่เราตั้งทีมทำงานสตาร์ทอัพขึ้นมาเพื่อใช้เป็นผลงานในการแข่งขัน และในที่สุดเราได้เป็นตัวแทน 1 ใน 3 ของประเทศ เพื่อเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันที่นั่น (ได้รับงบสนับสนุนจากทั้ง สสว.และวว.) แต่มีเรื่องยุ่งยากมากกว่าเดิมคือ ผมมีเดินทางไปเรียนที่ประเทศมองโกเลียในเรื่อง Digital for Agribusiness ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ก่อนการประกวดอาทิตย์นึง เลยต้องบินต่อจากประเทศจีนไปที่อเมริกาโดยไม่ต้องกลับมาไทย และผมโชคดีที่ถือวีซ่าอเมริกา 10 ปี เลยตัดปัญหาการทำวีซ่าเร่งด่วน ไม่งั้นคงไม่ได้ไปแน่ๆครับ ถึงหน้าเปลี่ยนไปไกลมาก ก็ยังได้เข้าประเทศโดยไม่มีปัญหาอะไรนะครับ ในส่วนงานแสดงผลงานดังกล่าวมีผู้ร่วมนำเสนอผลงานกว่า140หน่วยงาน จากมากกว่า 30ประเทศ เป็นระยะเวลา 3วัน การประเมินจะถูกตัดสินด้วยผลงานตั้งแต่การกรอกข้อมูลรายละเอียดในการสมัคร และมีคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าเยี่ยมชม เราต้อง Pitch ผลงานและตอบข้อซักถาม โดยผู้ประกอบการมีหน้าที่การเตรียมข้อมูลและเนื้อหาสำหรับการนำเสนอ แต่ด้วยเรามีประสบการณ์ในการขึ้น Pitch บนเวทีสตาร์ทอัพจากประเทศไทยมาพอสมควร จึงพอมีประสบการณ์ในการนำเสนอ ซึ่งในมุมมองของผม ปัจจัยที่จะทำให้งานประดิษฐ์มีโอกาสได้รับการยอมรับและได้รับรางวัลคือ
  1. เป็นนวัตกรรมที่แท้จริง หรือมีการต่อยอดจากนวัตกรรมเดิมอย่างสร้างสรรค์
  2. มีการพัฒนาผลงานจนกลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรหรือเครื่องหมายการค้า
  3. พร้อมสำหรับการดำเนินการในเชิงพาณิชย์หรือเริ่มดำเนินการแล้ว
ในวันสุดท้ายของการประกาศผล ทางผู้จัดได้รวมตัวนักประดิษฐ์ในห้องประชุม และเริ่มประกาศรางวัล โดยเริ่มตั้งแต่รางวัลพิเศษ หรือรางวัลชมเชย จนไปถึงรางวัลหลัก ซึ่งในมุมสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในวงการประกวดระดับโลกอย่างเรา ไม่ได้คาดคิดว่าจะมีโอกาสในการคว้ารางวัลมาได้ จนมาถึงการประกาศรางวัลในช่วงท้ายก็คือ Gold Prize ซึ่งมีนักประดิษฐ์ไม่กี่รายที่จะมีโอกาสได้รับรางวัลนี้ และมีเสียงประกาศเป็นชื่อของทีมเรา กลายเป็นช่วงเวลาแห่งความประหลาดใจ ความภูมิใจของพวกเรา ร่วมไปถึงผอ.เสือจากทางสสว. ก็ร่วมยินดีกับเราเป็นอย่างมาก (ท่านน่าจะตื่นเต้นเอามือตีไหล่ผมรัวเลยครับ) ถือเป็นก้าวสำคัญของสตาร์ทอัพรายเล็กๆอย่างเราในเวทีโลก

รับรางวัล Gold Prize ในงาน Silicon Valley International Invention Festival 2018

 

มังคุดกับ Deep Biotech โอกาสใหม่ของสารสกัดไทยในต่างประเทศ

ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่ทุกคนรู้ว่าตลาดเติบโตสูงมากในบ้านเรา แต่ในการเติบโตที่สูงขึ้นผมว่าคงเทียบกับอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้นไม่ได้เลย มีผู้เล่นใหม่ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต บริษัทที่เปิดมาเป็นช่องทางการกระจายสินค้า รวมไปถึงเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางหน้าใหม่อีกมหาศาล เราพึ่งพาการใช้วัตถุดิบและสารสกัดจากต่างประเทศผ่านคนกลางที่ซื้อเข้ามา แล้วขายเข้าโรงงานผู้ผลิตเครื่องสำอางที่จดทะเบียนในบ้านเรากว่า 1700 บริษัท สารสกัดชนิดเดียวกันถูกผลิตเป็นสินค้าแบบเดียวกัน ขายไปในตลาดเดียวกัน ฟาดฟันกันด้วยการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการโปรโมทผ่านกลุ่มคนที่มีชื่อเสียง สินค้าที่ไม่ได้มีนวัตกรรม ไม่มีคุณภาพ เมื่อขาดการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องก็ทำให้ผู้บริโภคหมดความสนใจ และทำให้วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์สิ้นสุดไปอย่างรวดเร็วผมบอกกับทุกคนในบริษัทว่าเราต้องหลุดออกจากวงจรนี้ให้ได้ ในที่สุดผมมีโอกาสรู้จักสถาบันผลิตผลเกษตรฯมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านทีมงานที่จบป.โทจากที่นั่น จนมีโอกาสร่วมทำงานวิจัยหลายโครงการ ตลอด 4 ปีกับการได้รับโอกาสจากสถาบันผลิตผลเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จมากคงเป็นโปรเจคสารสกัดแซนโทนบริสุทธิ์จากเปลือกมังคุด เราโชคดีที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับนักวิจัยที่มีประสบการณ์กับสารสกัดมังคุดกว่า 10ปี ทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามังคุดมีคุณสมบัติทางยา จริงๆสมัยก่อน มีคนเอาเปลือกมังคุดไปทำยาแผนโบราณเยอะแยะเลยครับ แต่คุณสมบัติอีกด้านคือ การนำมังคุดประโยชน์ในวงการอุตสาหกรรมความงาม ถ้าเรายกมังคุดว่าเป็นราชินีผลไม้ ผมว่าเราคงต้องให้อีกตำแหน่งคือ เป็นพืชที่เป็นราชินีแห่งความงามที่ถูกนำมาพัฒนาเป็นสารสกัดมูลค่าสูงได้อีกนับไม่ถ้วน พอได้สุดยอดสารสกัดมาแล้วเราเริ่มพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์รักษาสิวภายใต้แบรนด์ ACNOC โดยใช้ส่วนผสมที่มีผลงานวิจัยรับรองจากพาร์ทเนอร์ญี่ปุ่นของเรา ทดลองทำสูตร ผมทดลองใช้ด้วยตัวเองทุกล็อตการผลิต (ตอนนั้นมีปัญหาสิวหนักมากๆพอดีครับ) เราทำแบบนี้วนไปวนมา จนกว่าหน้าตัวเองจะดีขึ้น และมั่นใจว่าสูตรผลิตภัณฑ์คงตัว ผ่านการทดสอบทั้ง Stability และ Compatibilityเราเอาผลงานนี้ไปเปิดตัวครั้งแรกที่งาน Cosmoprof Hongkok โดยเราของบประมานในการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการส่งออกฯDITP จากโครงการSME Proactive (เพราะเรางบน้อย) ลูกค้าที่ได้ตัวอย่างทดลองจากบูธเราไปในวันแรก เดินกลับมาซื้อในวันถัดมาทุกรายครับของที่แบกไป ถูกขายหมดเกลี้ยงภายใน 2วัน เรามั่นใจในผลิตภัณฑ์เรามากขึ้น และเรียนรู้ว่าการขายสินค้าส่งออก สิ่งที่ลูกค้าต่างชาติถามหามากที่สุดคือ ผลการทดสอบทางคลินิก (Clinical Test Report)มีสิ่งที่เซอร์ไพรซ์ที่สุดจากในงานคือ ผมได้รับอีเมล์จากบริษัทใหญ่ระดับโลกจากประเทศจีน ติดต่อมาเพื่อขอซื้อสารสกัด แต่เราต้องปฏิเสธไป เพราะเราไม่สามารถสกัดได้ในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขนาดนั้นได้ ปรากฏการณ์ความสนใจสารสกัดแซนโทนบริสุทธิ์จากเปลือกมังคุดไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในฮ่องกง ช่วงนั้นเราไปที่งาน Intercharm Professional Moscow 2016 ที่ประเทศรัสเซีย มีชาวรัสเซียต่อแถวรอคุยกับเรายาวมาก ถึงขั้นที่คนมารออารมณ์เสียที่ไม่ได้คุยกับเราเรื่องสารสกัดจากมังคุดซะที อย่างล่าสุดงานสารสกัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น Cite Exhibition 2017 ที่โยโกฮาม่า เราก็มีไปร่วมออกบูธกับพาร์ทเนอร์ญี่ปุ่นของเรา มีบริษัทที่ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในช่องปากที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่นก็สนใจสารสกัดของเราเช่นกัน ส่วนงานที่ประทับใจที่สุดคิดว่าน่าจะเป็นงานแสดงสินค้าที่ชื่อ Cosme Tokyo ที่ได้รับเชิญบรรยายเป็นภาษาอังกฤษโดยนำเสนอเรื่องราวของการใช้สารสกัดไทยร่วมกับสารสกัดจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายใต้เครื่องหมายการค้า ACNOC สารสกัดจากเปลือกมังคุด (Crude Extract) จะเป็นสารสกัดอย่างหยาบ มีลักษณะสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีดำ ซึ่งเมื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมในสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีมูลค่าสูง (ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า) จะทำให้ลักษณะของผลิตภัณฑ์มีสีที่ไม่มิตรต่อผู้บริโภค และทำให้สินค้าดูด้อยค่าลง นอกจากนั้นหากประเมินปริมานจากแซนโทนจากสารสกัดจากเปลือกมังคุด จะมีปริมานสารแซนโทนในจำนวนน้อย ซึ่งจำเป็นต้องใช้สารในเปอร์เซ็นต์ที่สูงเพื่อให้ออกฤทธิ์และเกิดผลลัพธ์อย่างชัดเจน กระบวนการสกัดสารแซนโทนบริสุทธิ์จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยปัจจุบันเราสามารถพัฒนากระบวนการสกัดสารแซนโทนบริสุทธิ์ที่มีความเข้มข้นถึง 100% และนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เราสามารถส่งสารสกัดแซนโทนจากเปลือกมังคุดไปจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นและประเทศบราซิลได้สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย

การ Pitchโปรเจค ไม่ใช่เพื่อขอเงินจากนักลงทุนอย่างเดียว แต่มันช่วยสร้างวิวัฒนาการให้ธุรกิจเราได้

การประกวดในงาน Startup ไม่ใช่เพื่อแบมือขอเงินจากนักลงทุนอย่างเดียว แต่การขึ้นเวทีเพื่อนำเสนอสั้นๆ 4-5 นาที คือการพิสูจน์ตัวเองอย่างหนึ่ง มันพิสูจน์ความคิด แผนธุรกิจ ความสามารถของเรา ทีมงาน และร่วมไปถึง Passionในการทำผลงานของเราด้วย ที่สำคัญคำถามของคณะกรรมการแต่ละท่าน จะสะท้อนมุมมองความคิดของเรา และเป็นแนวทางในการพัฒนาผลงานในอนาคตได้ ผมเริ่ม Pitch โปรเจคแรกจากงานประกวดเพื่อค้นหา Product Champion ประเทศไทยในปี2017 ซึ่งเป็นงานของTCELS ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ตัวแทนรัฐบาลดำเนินการภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ นี่คือจุดเริ่มต้นการส่งโปรเจคเล็กๆของเรา เข้าสู่การเป็นสตาร์ทอัพสายวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ เราได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ชนะในระดับประเทศ​ และได้รับงบประมานอีก 500,000บาท (เราใช้เงินก้อนนี้ในอีก 1 การทดสอบและสร้างความมั่นใจให้สารสกัดเราด้านการลดอาการอักเสบของสิว) นอกจากนั้น TCELS ยังส่งเราไป Pitch ในงาน Cosmetic 360 ที่กรุงปาริส ประเทศฝรั่งเศส จนเป็นเหตุให้เราได้พบบริษัทใหญ่อีก 1 บริษัทจากโซนยุโรป ที่อยู่ในช่วงการร่วมมือกันพัฒนายาจากสารธรรมชาติ(Botanical Drug)

โอกาสของโปรเจคที่เราทำมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้การพัฒนาสารสกัดแซนโทนบริสุทธิ์จากเปลือกมังคุด ไม่ใช่สารสกัดเพื่อสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางรักษาสิวอย่างเดียวอีกต่อไป เรามีโอกาสได้ศึกษาผลงานวิจัยเชิงลึก ซึ่งปัจจุบันเราขยายสโคปการใช้ประโยชน์จากมังคุดเพื่อสินค้าในกลุ่ม สุขภาพและความงาม (Health & Beauty)ผมนำเสนอแนวคิดหลักในการทำงานต่อไปนี้กับนักวิจัยและทีมงานสตาร์ทอัพของพวกเรา

  1. สร้างคุณค่าใหม่ให้กับของเหลือจากกระบวนแปรรูปธุรกิจเกษตร(Agribusiness)โดยเชื่อมโยงซัพพลายเชนข้ามอุตสาหกรรม เช่น โรงงานแปรรูปน้ำมังคุด เหลือเปลือกมังคุดจากกระบวนการ ก็สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาสารสกัดผ่านงานวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าใหม่ให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
  2. สร้างนวัตกรรมที่แตกต่างและเป็นงานวิจัยเชิงลึกที่มีมูลค่าสูง เป็น Deep Biotech เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantages) ให้กับธุรกิจของเรา
  3. สู่การพัฒนาสินค้าที่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจซื้อ(Emotional Product) คนบริโภคเพราะมีปัญหาหรือกลัวมีปัญหา เช่น กลัวแก่ กลัวไม่สวย กลัวป่วย หรือกลัวตาย
จนถึงตอนนี้แค่เปลือกมังคุดเรื่องเดียว เราขยายผลการนำไปใช้ประโยชน์อีกถึง 5 อุตสากรรมด้วยกัน มีเครื่องสำอาง อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ในช่องปาก อาหาร รวมไปถึงอุตสาหกรรมยา ซึ่งกำลังจะมีโปรเจคใหม่เกิดขึ้นอีกจำนวนมาก

รวมผลงานและประสบการณ์ที่ทำสตาร์ทอัพ Deep Biotech ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

  • รางวัลชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ในงาน Silicon Valley International Invention Festival 2018 รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • รางวัลชนะเลิศในการประกวด Life Science Mass Challenge 2018 ประเทศไทย
  • รางวัลชนะเลิศในการประกวด Life Science Startup Thailand 2018 ประเทศไทย
  • รางวัลชนะเลิศในงาน Bio Pitch & Partner, Thailand Lab Expo 2017 ประเทศไทย
  • รางวัลสุดยอดผลิตภัณฑ์ประเทศ ประจำปี 2017 (Product Champion Thailand 2017) ประเทศไทย

ด้านการแสดงผลงานและการบรรยาย

  • ตัวแทนประเทศไทยเพื่อแสดงผลงานในงาน Bio Korea ประจำปี 2018 กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
  • ตัวแทนประเทศไทยเพื่อแสดงผลงานในงาน Echelon Asia Submit 2018 ประเทศสิงคโปร์
  • บรรยายในงาน Asian Beauty 2018 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
  • ตัวแทนประเทศไทยเพื่อแสดงผลงานในงาน Cosmetic360 ประจำปี 2017 กรุงปาริส ประเทศฝรั่งเศส
  • ได้รับเชิญออกงานแสดงสินค้าในงาน Consulfarmaประจำปี 2017 กรุงเซาเปาโล ประเทศบราซิล
  • บรรยายในงาน Beyond Beauty 2017 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
  • บรรยายในงาน Asian Beauty 2017 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
  • บรรยายในงาน Cosme Tokyo 2017 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
  • ผ่านการแสดงสินค้าในงานแสดงสินค้าความงามและเครื่องสำอางอีกกว่า 10 ประเทศทั่วโลก

บรรยายเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดไทยร่วมกับสารสกัดจากประเทศญี่ปุ่น ในงานแสดงสินค้าความงาม Cosme Tokyo 2017

บอกเลยว่ามาไกลขนาดนี้ไม่ได้ ถ้าขาดสถาบันและหน่วยงานต่างๆสนับสนุน รวมถึงทีมงานทุกคน ได้เวลาขอบคุณสปอนเซอร์ Startup ของเราตามรายการนี้เลยครับ
  • ดร.อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ นักวิจัยที่ให้โอกาสเราในการร่วมงานวิจัยด้วย รวมถึง อดีตผอ.วารุณี ธนะแพสย์ และ ผอ.ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์ สถาบันผลิตผลเกษตรฯ​ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​
  • ช่วงต้นของการแสดงสินค้าในต่างประเทศ เราได้รับโอกาสจากDITP กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ​ กระทรวงพาณิชย์ ในโครงการ SME Proactive ช่วยให้เรามีโอกาสเจอคู่ค้าต่างประเทศหลายชาติ
  • มีโอกาสได้เรียนในโครงการ YEN-D Season 1 โครงการของท่านอดุล โชตินิสากรณ์กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และมีสัมมนาต่อเนื่อง ได้รู้จักหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดเป็นครั้งแรกในชีวิต เอาไปขอสิทธิพิเศษทางภาษี ตอนซื้อขายกับคู่ค้าในต่างประเทศ
  • พี่ๆทีมงานและผู้บริหาร TCELS ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่ให้พื้นที่สตาร์ทอัพอย่างเรา จนมีโอกาสเดินทางไป Pitchที่ฝรั่งเศส แสดงผลงานที่เกาหลี และในงาน Echelon Asia Summit 2018 งานใหญ่ที่สุดของสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชีย
  • รศ.ดร.ภก.เนติ วระนุช ผอ. สถาบันวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้แนวทางในการพัฒนาทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการยอมรับในตลาดต่างประเทศ
  • ผอ. เสือ สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล และทีมงาน จาก สสว. (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ที่คัดเลือกเราไปประกวดในงาน Silicon Valley International Invention Festival 2018ในฐานะตัวแทนประเทศไทย
  • ล่าสุดเราได้รับอีกโอกาสจาก ดร.พิมพ์พันธุ์ ศรีพิพิธ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเราไปแสดงสินค้าที่งาน China ASEAN Expo 2018 ที่หนานหนิง ประเทศจีนเร็วๆนี้

ข้อมูลของผู้เขียนสั้นๆครับ

วุฒิพงษ์ ผาณิตเศรษฐกร (วุฒิ) จบปริญญาตรีที่ TNI ด้านการจัดการอุตสาหกรรม (เกียรตินิยมอันดับ 1) ปริญญาโทอินเตอร์ที่ CMMU ด้าน Entrepreneurship Management ปัจจุบันธุรกิจหลักคือ โรงงานผลิตเครื่องสำอาง และทำธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งสาย Biotech และ Digital Platform แต่ Passion หลักคือการสอนหนังสือ เลยรับเป็นอ.พิเศษที่มหาวิทยาลัยและบรรยายให้หน่วยงานต่างๆ ควบคู่ไปด้วย วิชาที่สอนเน้นสาย Cosmetic Business, Software Entrepreneur, Project Feasibility ใครเห็นว่ามีประโยชน์ก็เรียกใช้งานได้ครับ