ครีมที่ผ่านการจด อย. ไม่ได้แปลว่าไม่มีสารต้องห้าม

อย.จดแจ้ง

อย. ไม่ได้ตรวจครีมเมื่อจดแจ้ง!

อย. กับวงการเครื่องสำอางเป็นของที่คู่กันมาแต่ไหนแต่ไร ทุกคนคงรู้จักว่าอย.คืออะไรโดยเฉพาะในฝั่งของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายล้วนจะต้องผ่านการจดแจ้งและตรวจสอบจากอย. มาแล้วทั้งนั้น แต่สำหรับผู้บริโภคอาจจะยังไม่คุ้นชิ้นสักเท่าไหร่ในเรื่องของการตรวจสอบและจดแจ้งผลิตภัณฑ์ บทความนี้เราจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับบางอย่างที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับการจดแจ้งผลิตภัณฑ์ กระบวนการจดแจ้ง เพื่อขอเลขจดแจ้งจากทางอย. จะเป็นการยื่นจดแจ้งออนไลน์ โดยจะมีนักวิจัยที่จบในสายวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางเป็นคนคิดค้นสูตร และควบคุมปริมาณสารต่างๆ โดยนักวิจัยจะต้องมีความรู้ในเรื่องของการใช้สาร เพราะสารบางตัวเป็นสารต้องห้าม หรือเป็นสารควบคุม จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ยื่นจดแจ้งผ่านระบบออนไลน์ โดยการส่งภาพบรรจุภัณฑ์ คำอธิบายผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงส่วนผสมทั้งหมดเข้าระบบ หลังจากที่ข้อมูลเข้าสู่ระบบออนไลน์ จะมีเจ้าหน้าที่ทางอย. Monitor และตรวจสอบ หากไม่มีสิ่งผิดปกติจะได้รับการอนุมัติได้สบายๆ หากมีสิ่งไหนที่ผิดไปจากเกณฑ์จะถูกปฏิเสธ และเจ้าหน้าที่ทางบริษัทจะต้องชี้แจง และยื่นกลับไปอีกครั้ง หากจะดำเนินการและประสานงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถให้เจ้าหน้าที่ไปติดต่อโดยตรงที่อย. ก็สามารถทำได้ ไม่มีส่วนไหนที่บอกว่าส่งครีมไปตรวจอย. อย่าเสียเงินให้กับโรงงานที่มาเอาเปรียบ เซลล์มักจะเชียร์ขาย พูดทีน้ำไหลไฟดับ อ้างว่าส่งครีมไปให้ อย. ตรวจแล้ว ไม่มีสารต้องห้าม จริงๆ แอบผสมปรอท หรือไม่ก็กรดวิตามินเอมาให้ ใช้แล้วขาวใส ทุกรูขุมขน

ถ้าต้องการตรวจสอบจะต้องทำอย่างไร?

ถ้าจะตรวจสารต้องห้ามไม่สามารถตรวจสอบจากกระดาษลิสมัส หรือใช้ผงซักฟอกแบบที่รีวิวกันในเน็ตได้หรอก เพราะการจะตรวจจริงๆ จังๆ ต้องติดต่อ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือผ่านบริษัทเอกชนที่เป็นสถานที่รับตรวจสอบและมีมาตรฐาน โดยค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบก็จะแตกต่างออกไปตามแต่ละหน่วยงานหรือบริษัท สามารถโทรเพื่อสอบถามได้โดยตรง นอกจากจะตรวจสอบขั้นพื้นฐานแล้วยังสามารถส่งเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพ หรือความปลอดภัยของสารที่มีรายละเอียดมากขึ้นผ่านทางหน่วยงานที่มีอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ได้อีกด้วย

หากใช้แล้วพบว่าครีมมีสารต้องห้ามควรทำอย่างไร?

หากคุณใช้ผลิตภัณฑ์แล้วเกิดอาการแพ้ และกำลังสงสัยว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีสารต้องห้ามหรือไม่ สิ่งแรกที่ควรทำคือตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ก่อนว่ามีการระบุทุกอย่างครบตามที่อย. กำหนดหรือไม่ โดยฉลากต้องมีข้อความภาษาไทย ระบุข้อความอันจำเป็นครบถ้วน ได้แก่ ชื่อและชนิดของเครื่องสาอาง เลขที่ใบรับแจ้ง(เป็นเลข 10 หลัก) สารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีการใช้ ชื่อที่ตั้งผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิต และคำเตือนเป็นฉลากที่มีเลขอย.โดยถ้าหากมีเลข ให้นำนำเลขไปตรวจสอบในเว็บไซต์ของอย. โดยตรง ถ้าหากไม่พบเลขหรือเป็นเลขปลอม หลังจากใช้แล้วเกิดอาการแพ้ให้โทรร้องเรียนได้ที่สายด่วน โทร. 1556 หรืออีเมล 1556@fda.moph.go.th เพื่อให้ทางอย. ได้ตรวจสอบและเอาผิดกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย